สวัสดีครับ… หลายคนคงเจอกับปัญหาอยากเลือกซื้อหูฟัง True Wireless มาใช้งาน แต่ไม่มีโอกาสได้ไปลองฟังที่ร้านหรือบางรุ่นที่อยากได้ ที่ร้านก็ไม่มีให้ลอง วันนี้ผมจะมาแนะนำเว็บไซต์ตัวช่วยในการเลือกหูฟัง True Wireless กันครับ
หูฟัง True Wireless คืออะไร ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับหูฟังชนิด True Wireless กันก่อนว่าคืออะไร หูฟังชนิด “True Wireless” หรือที่เราเรียกกันว่าหูฟังแบบไร้สาย ซึ่งมีความแตกต่างกับหูฟังชนิด “Wireless” อยู่เล็กน้อย แต่ทั้งสองชนิดจะใช้การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆด้วยเทคโนโลยี Bluetooth เช่นเดียวกัน แต่ “True Wireless” จะจัดการเรื่องสายสัญญาณออกไปจากหูฟังทั้งสองข้างทำให้สะดวกในการจัดเก็บและพกพา รวมถึงการใช้งานต่างๆทั้งด้านฟังเพลง การกันนำ้สำหรับการออกกำลังกาย รวมถึงแบตเตอรี่ภายในที่ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ส่วนชนิด “Wireless” ยังคงมีสายเชื่อมต่อระหว่างหูฟังทั้งสองข้างจะมีรุ่นแบบมีสายคล้องคอที่นิยมใช้ในการออกกำลังกายและรุ่นแบบครอบหู หรือที่เรียกกันว่าชนิด On-Ear
เทคโนโลยี Bluetooth?
เทคโนโลยี Bluetooth เป็นเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลระยะใกล้ จากอุปกรณ์ดิจิตอลตัวหนึ่งไปยังตัวอื่นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ 2.4GHz(กิกะเฮิรตซ์) ซึ่งอยู่ในช่วงความถี่เดียวกับคลื่น Microwave และ Wi-Fi เทคโนโลยี Bluetooth เวอร์ชั่นล่าสุดในเวอร์ชั่นที่ 5 ในปี 2020 นี้ หรือที่เรียกกันว่า Bluetooth 5.0 ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายในอุปกรณ์ หลายประเภทเช่น คีย์บอดไร้สาย เมาส์ไร้สาย หูฟังไร้สาย รวมไปถึงอุปกรณ์ Smart home และ อุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ฯลฯ
มาเริ่มเลือกหูฟัง True Wireless โดยใช้หลักทางวิศวกรรม
1. เลือกประเภทของหูฟัง True Wireless ตามลักษณะการสวมใส่ ในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท สำหรับหูฟังแบบ True Wireless ประเภทแรกคือ หูฟังเอียร์บัด (Earbuds) และประเภทที่สองคือ หูฟังแบบเสียบหู (In-Ear)
- หูฟังเอียร์บัด (Earbuds) : ลดเสียงรอบข้างได้ไม่ดีนัก และมีโอกาสหลุดได้ง่ายกว่าแบบอื่น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบสอดหูฟังเข้าไปในรูหู
- หูฟังแบบเสียบหู (In-Ear): ลดเสียงรอบข้างได้ดี มีจุกยางหรือจุกโฟมหลายขนาดสามารถสอดเข้าไปในรูหูจนปิดสนิททำให้หูฟังสวมใส่ได้พอดี และหลุดได้ยาก
2. เทคโนโลยี และ ฟังก์ชันการใช้งาน
2.1 ตรวจสอบเวอร์ชั่นของ Bluetooth (แนะนำเวอร์ชั่นล่าสุด 5.X)
- Basic Rate (BR): รูปแบบพื้นฐานของการจำกัดความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูล อยู่ที่ 1Mbit/s หรือ125 KBps
- Enhanced Data Rate (EDR): รูปแบบของความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่รองรับความเร็วถึง 3Mbit/s หรือ 375 KBps.
- High Speed (HS):รูปแบบของมาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สาย 802.11 โดยมีความเร็วอยู่ที่ 24 Mbit/s หรือ 3000 KBps.
- Low Energy (LE): รูปแบบของลักษณะการบริโภคพลังงานที่ต่ำ
- Slot Masking Availability (SAM):ความสามารถในการทำงานในสภาวะสัญญาณแออัดได้ (***ตัวนี้สำคัญทำให้ไม่เกิดสัญญาณรบกวนในการใช้งานในที่ ที่มีคนพลุกพล่านได้ สำหรับ Bluetooth 5.0 มีสิ่งนี้ด้วยครับ)
2.2 ดูค่า Latency
ค่า Latency ในหูฟัง Wireless/True Wireless คืออะไร ขออธิบายง่ายๆ แบบนี้ครับ Latency เกิดขึ้นจากการเดินทางของข้อมูลเสียงจากอุปกรณ์ต่างๆที่เราจับคู่อยู่กับหูฟังของเราเช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเสียงดังกล่าวต้องใช้เวลาในการเดินทางครับ ฉะนั้นแล้ว Latency จึงมีหน่วยการวัดค่าเป็นจำนวนเวลาหนึ่งในหนึ่งพัน วินาที โดยใช้ตัวย่อ ms.(millisecond) ยิ่งถ้ามีค่า Latency ที่มากก็จะมีผลต่อการใช้งานของเราเช่น เวลาที่เราดูซีรีย์บน Netflix ดูสตรีมมิ่งวิดีโอ หรือเล่น เกม ภาพที่เราเห็นกับเสียงจะมาไม่พร้อมกันนั่นเองครับ แต่ต้องยอมรับก่อนเลยว่าเทคโนโลยีไร้สายแบบ Bluetooth ยังต้องมีค่า Latency อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ หากเทียบกับการใช้สาย ก็ยังคงมีค่า Latency อยู่เล็กน้อยที่ประมาณ 5–10ms.ครับ แนะนำตามตรงว่าเหล่าบรรดาเกมเมอร์อาจต้องลองกลับไปมองหาเทคโนโลยีแบบสายมาตอบสนองการใช้งานแทนแบบไร้สายน่าจะเหมาะครับ ส่วนการใช้งานด้านอื่นอาจไม่พบเจอปัญหามากนัก เพราะ ทุกวันนี้หลายยี่ห้อทำTrue Wireless ออกมาได้ค่า Latency ที่ยอมรับได้สำหรับการดูซีรีย์บน Netflix ดูสตรีมมิ่งวิดีโอ ครับ
ผมมีเว็บไซต์มาแนะนำคือ RTINGS.com เว็บไซต์สำหรับเช็คค่า Latency ของหูฟัง Wireless/True Wireless ซึ่งมีผลทดสอบมากมายหลายรุ่น โดยสามารถ ค้นหา Keyword เพื่อหารุ่นที่คุณสนใจได้
3. คุณภาพของเสียง
แน่นอนครับว่า การซื้อหูฟัง เราก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของเสียง ซึ่งผมจะพาทุกคนมาวิเคราะห์หูฟังที่เราสนใจด้วยการทดสอบเสียงในรูปแบบต่างๆกันครับโดยข้อมูลที่จะยกมาเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ หูฟังมีดังนี้
3.1 Raw Frequency Response
การทดสอบเพื่ออธิบายความถูกต้องและแม่นยำของการตอบสนองของความถี่โดยการจำลองป้อนความถี่เข้าไปยังหูฟังด้วยอุปกรณ์ทดสอบเฉพาะที่ทาง RTINGS.com
ยกตัวอย่างเช่น เราป้อนความถี่ input ที่ 100Hz, 1kHz, and 10kHz, ที่ความดัง -6dB FS) หูฟังที่มีความเป็น neutralสูงๆ จะตอบสนองความถี่ output ออกมาเช่นเดียวกับ input ที่ป้อนเข้าไป คือที่100Hz, 1kHz, and 10kHz.
ผมทำการเลือกตัวอย่างหูฟังขึ้นมาหนึ่งรุ่นที่ผมสนใจจะซื้อ จากกราฟจะเห็นว่าทำการทดสอบความถูกต้องและแม่นยำของการตอบสนองของความถี่ห จำนวน 5 ครั้ง และเป็นค่าเฉลี่ยออกมาซึ่งอธิบายด้วยกราฟ output สีน้ำเงิน(หูข้างซ้าย) และกราฟ Output สีแดง(หูข้างขวา)เทียบกับกราฟเส้นประสีส้ม ที่เป็น input ความถี่ที่เราป้อนเข้าไป
3.2 Bass Accuracy
เป็นการอธิบายลักษณะของเสียงต่ำในช่วงความถี่ ตั้งแต่ 20Hz ถึง 250Hz. ซึ่งจะเป็นย่านของเครื่องดนตรีเสียงต่ำเช่น เสียงกระเดื่องกลอง และ เสียงเบส โดยกราฟนี้เป็นกราฟที่อธิบายลักษณะ Bass Accuracy ของหูฟังตัวอย่างที่ผมเลือกมา ซึ่งเราจะทำการวัดถึงประสิทธิภาพหูฟังโดยการดูผลการตอบสนองของความถี่ที่ในย่าน Low-bass mid และ High-bass ครับ ถ้าหูฟังที่มี Bass Accuracy ที่ดีก็จะได้ผลออกมาใกล้เคียงเส้นประที่เป็น Target Response นั่นเองครับ
3.3 Mid Accuracy
เป็นการอธิบายลักษณะของเสียงกลาง ในช่วงความถี่ตั้งแต่ 250Hz ถึง 2.5kHz. ซึ่งเป็นย่านของเสียงร้องและเครื่องดนตรีชนิดเครื่องสายสำหรับย่านเสียงกลางนี้ การวัดประสิทธิภาพหูฟังจะดูผลการตอบสนองของความถี่ที่ในย่าน Low-mid Mid และ High-mid ถ้าหูฟังที่มี Mid Accuracy ที่ดีก็จะได้ผลออกมาใกล้เคียงเส้นประที่เป็น Target Response นั่นเองครับ
3.4 Treble Accuracy
เป็นการอธิบายลักษณะของเสียงสูงในช่วงความถี่ตั้งแต่ 2.5kHz ถึง 20kHz. เป็นย่านของเครื่องดนตรีที่มีความถี่สูงเช่น Hi-hats และ Cymbals และเป็นย่านที่มีความใสและสว่างของเสียง การวัดประสิทธิภาพหูฟังจะดูผลการตอบสนองของความถี่ที่ในย่าน Low-treble Mid-treble และ High-treble ถ้าหูฟังที่มี Treble Accuracy ที่ดีก็จะได้ผลออกมาใกล้เคียงเส้นประที่เป็น Target Response นั่นเองครับ
3.5 Noise Isolation
คือความสามารถในการตัดเสียงรบกวนจากเสียงภายนอกนั่นเอง ซึ่งจะจำแนกการตัดเสียงรบกวนเป็น 2 ประเภท คือ Passive isolation และ Active cancellation
- Passive isolation คือการตัดเสียงรบกวนมาจากการออกแบบทางกายภาพ ยกตัวอย่างดังที่ผมได้กล่าวไว้ในหัวข้อแรก ของ หูฟังเอียร์บัด (Earbuds) และ หูฟังแบบเสียบหู (In-Ear) นั่นเองครับ การออกแบบจึงเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเป็นตัวช่วยในการตัดเสียงรบกวนได้เช่นกันและไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการตัดเสียงรบกวนด้วยครับ
- Active cancellation หรือที่เราอาจคุ้นกันในฟังก์ชั่นที่เรียกว่า noise cancelling อธิบายง่ายๆก็คือ หูฟังที่มี Active cancellation จะใช้การทำงานของไมโครโฟนทำหน้าที่รับเสียงจากภายนอก แล้วระบบวงจรในตัวหูฟังจะทำการวิเคราะห์ว่าเสียงใดเป็นเสียงรบกวน แล้วทำการยิงคลื่นหักล้างขจัดคลื่นรบกวนที่รับเข้ามาจากไมโครโฟนก่อนที่จะปล่อยออกมาจากตัวขับเสียงของหูฟัง ส่งผลให้เสียงรบกวนส่วนเกินหายไปนั่นเองครับ ซึ่งActive cancellation อาจไม่ได้มีในทุกรุ่นต้องดูรายละเอียดครับว่าหูฟังตัวที่เราสนใจมี Active cancellation หรือ noise cancelling หรือไม่ นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์ RTINGS.com เขาก็มีผลลัพธ์ของการทดสอบการตัดเสียงให้เราลองฟังด้วยครับ
3.6 Leakage
หลายคนที่เลือกซื้อหูฟังอาจมองข้ามเรื่อง Leakage หรือเสียงที่เล็ดลอดออกมาในขณะที่เราใช้งาน ทำให้ผู้คนรอบข้างได้ยินสิ่งที่เรากำลังฟังอยู่โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ บางรุ่นที่มีเสียงดังออกมาภายนอกเยอะๆจึงไม่เหมาะกับการใช้ฟังในที่ทำงาน หรือห้องบันทึกเสียงโดยทาง RTINGS.com ได้ทำการทดสอบค่าที่ระยะ 1ft. หรือประมาณ 30 เซ็นติเมตร และกราฟด้านล่างเป็นผลลัพธ์ของค่า Leakage ของหูฟังที่ผมเลือกมาทดสอบครับ
ผลลัพธ์ออกมาจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยทีเดียวครับสังเกตได้จากแถบระดับสีทางด้านขวาจะเห็นว่าอยู่ในช่วงเสียงลมหายใจไปจนถึงเสียงกระซิบเบาๆในย่านเสียงสูง บ้างรุ่นก็อาจทำได้ดีกว่านี้ลองเลือกรุ่นที่สนใจแล้วลองมาดูกราฟดูกันนะครับ แต่ถ้าดูกราฟแล้วยังไม่ค่อยมั่นใจทางเว็บไซต์เขาก็มี ตัวอย่างเสียงให้เราลองฟังด้วยครับ
ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ทุกคนสามารถเข้าไปทดลองดูผลลัพธ์ของหูฟังที่เราสนใจจะซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.rtings.com มีข้อมูลการทดสอบรุ่นหูฟังไว้หลากหลายรุ่นเลยที่เดียวครับ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกเรื่องสเปคไว้ให้เราเปรียบเทียบไว้อย่างครบถ้วนด้วยครับ
บทความนี้ผมตั้งใจทำมาเพื่อแชร์แนวทางเลือกซื้อหูฟังโดยการใช้การเปรียบเทียบของข้อมูลหูฟังที่ได้ทำการถูกทดสอบจริงๆ และมีผลอ้างอิงไว้ให้ตัดสินใจเบื้องต้น ความแม่นยำต่างๆ ผมจะไม่ขอกล่าวถึงนะครับ แต่อย่างน้อยให้เราพอรู้ไว้ว่าหูฟังที่เราสนใจจะมีคุณภาพที่คุ้มค่ากับที่เราจะต้องจ่ายไปมากน้อยแค่ไหน. สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณที่อ่านกันมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ด้วยนะครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยทุกคนตัดสินใจซื้อหูฟัง True Wireless มาใช้งานให้ตรงตามที่ต้องการได้นะครับ
แหล่งที่มา